วันจันทร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

การเล่นเพลงบอก

การเล่นเพลงบอก
เพลงบอกเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นภาคใต้ที่แสดงออกถึงศิลปะในการใช้ภาษาสื่อสารในเรื่องต่างๆ
เพลงบอกนอกจากจะเป็นการละเล่นที่เป้นเอกลักษณ์เฉพาะปักษ์ใต้แล้ว เพลงบอกยังเป็นอาภรณ์แห่งภาษา
อันมีค่ายิ่งซึ่งควรอนุรักษ์ไว้ให้สืบไป

ตัวอย่างกลอนเพลงบอก
สิบนิ้วน้อมค้อมคำนับ ผมมาขานขับเพลงบอก
เพื่อนร่วมกันทอกกลอนโชว์ ยกขึ้นเป็นโวหาร
ไหว้พระพุทธสุดประเสริฐ พระผู้ก่อเกิดโพธิญาณ
โอฆสงสารข้ามล่วง ชี้ทางแก่ปวงชน
ทั้งพระธรรมคำสั่งสอน พระชินวรณ์ตรัสไว้
ชาวโลกก็ได้รู้จัก ช่วยให้เกิดมรรคผล

เพลงบอก ๑ บท มี ๔ วรรค
จำนวนคำในวรรค เป็น ๖ / ๖ / ๖ / ๕

การสัมผัสภายในบทเดียวกัน
คำสุดท้ายวรรคแรก ส่งสัมผัสไปยัง คำที่ ๔ ของวรรคที่ ๒ ( นับ - ขับ )
คำสุดท้ายวรรคที่ ๒ ส่งสัมผัสไปยัง คำที่ ๔ ของวรรคที่ ๓ ( บอก - ทอก )
คำสุดท้ายวรรคที่ ๓ ส่งสัมผัสไปยัง คำที่ ๔ ของวรร๕ที่ ๔ ( โชว์ - โว )

การสัมผัสระหว่างบท
คำสุดท้ายวรรคที่ ๔ ของบทที่ ๑ ส่งสัมผัสไปยังคำสุดท้ายวรรคที่ ๒ ของบทที่ ๒
แต่ระหว่างบทที่ ๒ กับบทที่ ๓ จะสัมผัสไม่เหมือนบทที่ ๑ กับบทที่ ๒ คือ
คำสุดท้ายวรรคที่ ๔ ของบทที่ ๒ จะส่งสัมผัสข้ามไปยังคำสุดท้ายวรรคที่ ๔
ของบทที่ ๓
บทต่อๆไปก็จะเวียนมาเหมือนบทที่ ๑ กับบทที่ ๒ และสลับเหมือน บทที่ ๒กับบทที่ ๓
ไปเรื่อยๆจบจบคำกลอน

จำนวนผู้เล่นเพลงบอก
เพลงบอก ๑ คณะ จะประกอบด้วย
แม่เพลง ๑ คน มือฉิ่ง ๑ คน และลูกคู่อีก ๒ - ๓ คน รวมทั้งคณะจะมีประมาณ
๕ คน มือฉิ่งก็ถือว่าเป็นลูกคู่ด้วย

การเล่นเพลงบอก
๑. เมื่อเริ่มเล่น แม่เพลงจะว่า ออ...ออ...ออ...หอ...หอ...
ลูกคู่ก็จะตีฉิ่ง ฉิ่ง...ฉิ่ง...ฉิ่ง...ฉิ่ง...ฉิ่ง...แล้วรัวฉิ่งต่อไปจนหมดหางเสียงของแม่เพลง
๒. แม่เพลงว่าวรรคแรก สิบนิ้วน้อมค้อมคำนับ
ลูกคู่รับว่า เอ้ ว่า เห ค้อมคำนับ
มือฉิ่งจะตี ฉิ่ง ฉับ ฉิ่ง ฉับ (โดยตีให้เข้ากับจังหวะร้องและจังหวะรับตลอดไป )
๓. แม่เพลงจะว่าวรรคแรกอีกครั้งหนึ่ง สิบนิ้วน้อมค้อมคำนับ
ลูกคู่รับว่า ว่า ทอย ช้า ฉ้า เหอ คำนับ
๔. แม่เพลงว่าวรรคที่ ๒ ผมมาขานขับเพลงบอก
ลูกคู่รับว่า เพลงบอก
๕. แม่เพลงว่าวรรคที่ ๒ อีกครั้งหนึ่ง ผมมาขานขับ
ลูกคู่รับว่า ใช่แล้ว เพลงบอก
๖. แม่เพลงว่าวรรคที่ ๓ เพื่อนร่วมกันทอกกลอนโชว์
ลูกคู่รับ กลอนโชว์
๗. แม่เพลงว่าวรรคที่ ๔ ยกขึ้นเป็นโวหาร
ลูกคู่รับ ยกขึ้นเป็นโวหาร เพื่อนร่วมกันทอกกลอนโชว์ ยกขึ้นเป็นโวหาร
บทต่อๆไปก็จะว่าและรับลักษณะเดียวกันนี้จนจบคำกลอน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น